เกี่ยวกับสหทัยมูลนิธิ

สหทัยมูลนิธิ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก่อตั้งโดยนักวิชาการในวงการสวัสดิภาพครอบครัวและเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินงานเพื่อเด็กและครอบครัวโดยไม่แสวงหากำไร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ภายใต้ชื่อ "โฮลท์สหทัยมูลนิธิ" และในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็น"สหทัยมูลนิธิ" เพื่อความเหมาะสม

"สหทัยมูลนิธิ" เชื่อมั่นและตระหนักว่า “สถาบันครอบครัว” เป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมในทุกด้าน การฟื้นฟูและเสริมกำลังครอบครัวให้มั่นคงเพื่อสามารถทำหน้าที่ต่อบุตรหลานได้ตามปกติ คือ ภารกิจหลักของมูลนิธิ

สำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งและต้องการโอกาสในสังคม “สหทัยมูลนิธิ” มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะให้การพิทักษ์ คุ้มครอง และยินดีที่จะร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นรัฐภาคี


ประวัติความเป็นมา

สหทัยมูลนิธิ เป็นมูลนิธิเอกชนไทยที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ให้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์การสาธารณกุศลตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เดิมใช้ชื่อว่า “โฮลท์สหทัยมูลนิธิ” จนถึงปี พ.ศ.2527 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สหทัยมูลนิธิ” แต่คงชื่อภาษาอังกฤษไว้ว่า “Holt Sahathai Foundation” เช่นเดิม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนายและนาง Harry Holt ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งองค์การ Holt International Children’s Services ในเมือง Eugene ในรัฐ Oregon ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้มีการก่อตั้งมูลนิธิ

คณะกรรมการผู้ก่อตั้งประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความสนใจอยากจะช่วยมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการเด็ก ซึ่งในขณะนั้นสภาพสังคมไทยได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนามและการเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยของทหารสหรัฐ ทำให้มีเด็กถูกทอดทิ้งอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ มากมาย มีการซื้อขายเด็กจนประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นตลาดมืดในการค้าเด็ก ซึ่งสืบเนื่องจากธุรกิจการขายบริการทางเพศและเมียเช่ามากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นที่สนใจของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ในระยะเตรียมการก่อตั้งมูลนิธิในปี 2518 ทางมูลนิธิได้ทำการสำรวจปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และได้นำผลการสำรวจนั้นมาเป็นแนวทางในการจัดตั้งบริการความช่วยเหลือต่าง ๆ ของมูลนิธิ ซึ่งประกอบด้วย การช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพครอบครัวเพื่อป้องกันการทอดทิ้งเด็ก การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งแล้วให้ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอุปถัมภ์เป็นการชั่วคราว การส่งเสริมพัฒนาการเด็กคนไข้ในโรงพยาบาล ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางโภชนาการแก่เด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ บริการเหล่านี้ได้แตกแขนงออกไปเป็นโครงการต่าง ๆ อีกหลายโครงการในปัจจุบัน

ในระยะเริ่มต้นก่อตั้ง มูลนิธิมีส่วนผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาตลาดมืดซื้อขายเด็ก และการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยปราศจากการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักวิชา โดยให้กรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)เข้ามามีส่วนตรวจสอบคุณสมบัติและอนุมัติการยกมอบเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม
ผลงานของมูลนิธิเท่าที่ผ่านมาและดำเนินอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในขอบเขตของงานสวัสดิการครอบครัวและเด็กตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เป็นที่ยอมรับกันว่า สหทัยมูลนิธิเป็นองค์การสาธารณกุศลที่ใช้นักวิชาชีพเฉพาะทางดำเนินงานตามหลักวิชาของแต่ละสาขาวิชาชีพ สถาบันระดับอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ใช้งานโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิ เป็นที่ศึกษาและฝึกงานตลอดมา


วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมและดำเนินการให้เด็กทุกคนมีชีวิตอยู่ในครอบครัวของตนเองอย่างมั่นคงผาสุกในครอบครัวตนเอง
  2. จัดหาครอบครัวทดแทนให้กับเด็กซึ่งไม่อาจอยู่กับครอบครัวของตนเองได้
  3. ส่งเสริมและจัดหาครอบครัวบุญธรรมโดยดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก
  4. ส่งเสริมและให้บริการด้านสวัสดิการครอบครัวและเด็กตามหลักวิชาการสังคมสงเคราะห์
  5. ส่งเสริมและประสานงานกับองค์การต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการครอบครัวและเด็ก
  6. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านสวัสดิการครอบครัวและเด็ก โดยไม่แสวงหาผลกำไร และไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิการเมืองใด ๆ
  7. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องงานพัฒนาเด็กและครอบครัว ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ

โครงการในอดีต

สหทัยมูลนิธิเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการนันทนาการผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไข้เด็กที่ต้องจากบ้านมารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยได้ริเริ่มทำที่โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลภูมิพลฯ และโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

สหทัยมูลนิธิเป็นผู้ริเริ่มการช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากสงครามเขมรด้วยวิธีฝากเลี้ยงตามบ้าน ภายในศูนย์ผู้อพยพค่ายกัมพุชฯ จังหวัดจันทบุรี อันเป็นแนวทางสำหรับองค์กรเอกชนอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้กับเด็กกำพร้ากลุ่มอื่นในเวลาต่อมา

สหทัยมูลนิธิเป็นองค์กรหลักในการจัดตั้ง “คณะทำงานด้านเด็ก” เมื่อปีพ.ศ. 2525 ทำหน้าที่รณรงค์ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการเด็ก ตลอดจนพิทักษ์สิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติและผลักดันให้รัฐบาลได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาฯดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสำนึกที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กๆในสังคมไทยในปัจจุบัน

สหทัยมูลนิธิได้เคยดำเนินงานร่วมกับกองควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กที่อาศัยอยู่ตามชนบทที่ห่างไกลในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์


โครงการในมิติอื่น ๆ

มูลนิธิจัดทำโครงการพัฒนาบริการทางสังคมสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์เพื่อส่งเสริมให้เด็กอยู่ในครอบครัว (โครงการคืนเด็กสู่บ้าน) โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลักษณะงานเป็นการสาธิตการใช้วิธีการและกระบวนการสังคมสงเคราะห์ให้มีความพร้อมที่จะนำเด็กกลับไปดูแลในครอบครัวของตนเองได้ โดยไม่ต้องให้เด็กใช้ชีวิตอยู่ในสถานสงเคราะห์เป็นเวลานานเกินความจำเป็น รวมทั้งเสริมกำลังครอบครัวที่ประสบปัญหารายใหม่ ซึ่งประสงค์จะฝากหรือมอบให้อยู่ในสถานสงเคราะห์ให้สามารถดูแลเด็กได้เองอย่างปกติสุข เป็นการป้องกันการทอดทิ้งเด็กหรือถูกแยกจากครอบครัวเดิม

โครงการสนับสนุนการดำเนินโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ของสถานสงเคราะห์บ้านเด็กเวียงพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการสนับสนุนด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากรและงบประมาณบางส่วน เป็นโครงการที่เติบโตอย่างมีคุณภาพน่าพอใจ ช่วยลดจำนวนเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ให้ลดน้อยลงและเด็ก ๆ ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น

สนับสนุนงานด้านการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก HIV ของสถานสงเคราะห์บ้านเด็กสงขลา ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์แห่งเดียวในภาคใต้ที่รับเด็กติดเชื้อ HIV ไว้ในความอุปการะ มูลนิธิสนับสนุนงบประมาณในการจัดจ้างพี่เลี้ยงเด็ก 1 คน สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและกิจกรรมสำหรับพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ

โครงการฟื้นฟูศักยภาพครอบครัวผู้ต้องขังเพื่อช่วยให้เด็กติดผู้ต้องขังอยู่ในครอบครัว เป็นโครงการที่มูลนิธิร่วมกับกรมราชทัณฑ์เมื่อปีพ.ศ.2547 เป้าหมายในการทำงานคือ เด็กที่อยู่ในความดูแลของผู้ต้องขังและเด็กที่ติดครรภ์มารดาเข้ามาคลอดในเรือนจำ แนวคิดการทำงานคือการจัดบริการที่เอื้อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัวโดยการทำงานฟื้นฟูสภาพครอบครัวเดิมหรือครอบครัวเครือญาติให้มีศักยภาพที่จะดูแลเด็กได้ ตลอดจนการจัดหาครอบครัวทดแทนให้เด็กทั้งชั่วคราวและถาวรตามสภาพปัญหาและความจำเป็นของแต่ละราย

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยผู้ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย ชายฝั่งทะเลอันดามัน หลังเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยแถบชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัดของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก มูลนิธิเห็นความจำเป็นในการฟื้นฟู ช่วยเหลือตามหลักวิชาการสังคมสงเคราะห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการย่อยคือ

  • โครงการฟื้นฟูครอบครัวและเด็กที่รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยฯ เป็นการทำงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ต.กำพวน กิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดยใช้ผสมผสานวิธีการปฏิบัติงานทั้งการให้คำปรึกษาเฉพาะราย การจัดกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมอื่น ๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • โครงการฟื้นฟูจิตใจและพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่นบ้านน้ำเค็ม เป็นการทำงานกับกลุ่มวัยรุ่น บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูจิตใจและพัฒนาทักษะชีวิตผ่านกระบวนการกิจกรรมกลุ่มประเภทต่างๆในลักษณะให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วม โดยคาดหวังว่าเยาวชนจะพาตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย มีคุณภาพและจะเป็นพลังหนึ่งในการฟื้นฟูพัฒนาครอบครัวของตนและชุมชนในอนาคต

Facebook สหทัยมูลนิธิ